วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การปิดกั้นผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ

การปิดกั้นผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ
ของ ศศิธร ศิริประเสริฐกุล*

ศศิธร ศิริประเสริฐกุล. (2545). การปิดกั้นผู้หญิงเค้าสู่พื้นที่สาธารณะ. ดุษฎีนิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต, สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


คณะกรรมการควบคุม รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์
ผศ.ดร.เพ็ญสิริ จีระเดชากุล
ผศ.ดร.สุรวุฒิ ปักไธสง

ความสำคัญของปัญหา
การสร้างสถาบันครอบครัวขึ้นรองรับ การจัดระเบียบสังคมภายใต้การบริหารอำนาจของ
อุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่การผลิตซ้ำอุดมการณ์จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง
และยั่งยืน โดยการทำให้สถาบันครอบครัวกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นเรื่องสามัญสำนึกในสังคม
ผ่านการสร้างความรู้เรื่องแนวคิดการแบ่งงานกันทำเพื่อแบ่งพื้นที่การครอบครอง และเพื่อป้องกันการก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตของผู้หญิง
การจัดระเบียบพื้นที่ออกเป็นสองส่วนชัดเจน คือ ที่บ้าน ถูกจัดสร้างให้มีความหมายว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว เมื่อเปรียบเทียบกับที่นอกบ้านที่มีความหมายว่าเป็นพื้นที่สาธารณะภายใต้แนวคิดการแบ่งงาน
กันผ่านความรู้ในศาสตร์สังคมวิทยาของเดอร์ไคล์ม และพาร์สัน (Stones.1998 : 49 ; Ritzer.1996 : 443 )
ความรู้ที่ช่วยตอกย้ำอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่โดยการจัดแบ่งพื้นที่ให้ผู้หญิงปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัว
ส่วนสามีมีหน้าที่ออกไปปฏิบัติงานนอกบ้าน ในงานก่อให้เกิดรายได้พร้อมกับการสร้างคุณค่า ความสำคัญ ของสามี ว่ามีความสามารถสูงเกินกว่าที่จะทำงานบ้าน ทำให้ภรรยาถูกลดคุณค่าลงเป็นส่วนประกอบ/เครื่องมือสู่ความสำเร็จของสามี
เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่ นอกเหนือจากการหลอมสร้างความเป็นหญิง
ผ่านงานบ ้าน ได้มีการสร้างความรู้เรื่องเพศเพื่อตอกย้ำการหลอมสร้างอัตลักษณ์ผู้หญิง เพื่อทำให้ผู้หญิง
ยินยอมเป็นวัตถุที่ครอบครองได้โดยความปรารถนาของผู้ชาย ผ่านการสร้างของนวนิยาย โฆษณา และสื่อ
ต่าง ๆ เกี่ยวกับความสวยงามของร่างกายในการเป็นผู้หญิง เพื่อทำให้ผู้หญิงมีความสวยงามแห่งร่างกาย
ตามมาตรฐานที่ผู้ชายมีความปรารถนาและความต้องการ ซึ่งเท่ากับเป็นการสถาปนาวาทกรรมพ่อเป็นใหญ่
โดยใช้พื้นที่ของร่างกายผู้หญิงให้เป็นสนามวาทกรรมของพ่อเป็นใหญ่ เพื่อตรึงผู้หญิงกับงานบ้าน
ดังนั้นการสร้างแนวคิดการแบ่งงานกันทำพร้อมอุดมการณ์เรื่องเพศ จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่อย่างกว้างขวางและซึมลึกมากที่สุดเพื่อตรึงผู้หญิงไว้
กับงานบ้าน และสร้างการเผชิญหน้ากับความยากลำบากในพื้นที่สาธารณะ เพื่อทำให้ผู้หญิงกลับเข้าไปอยู่
ในภาวการณ์เป็นแม่(นภาภรณ์ หะวานนท์ และ เครี่ริคเตอร์.2538 : 32 ; citing Mencher.1988 :119. A Home Divide.)
ผู้หญิงในครอบครัวทุนนิยม ถูกแยกหน้าที่การผลิตออกไปจากครัวเรือนเหลือเพียงการทำหน้าที่
เฉพาะงานบ้าน ภายใต้การสร้างความรู้เรื่องการแบ่งงานกันทำของอุดมการณ์ทุนนิยม เพื่อหวังประสิทธิภาพ
การทำ หน้าที่พิเศษเฉพาะอย่าง การเป็นภรรยาและแม่ในครอบครัวทุนนิยมนอกเหนือจากการทำหน้าที่จ้องจับเพื่อควบคุมทรัพยากรมนุษย์ของสังคมไว้ภายใต้ความรักแล้วยังผูกมัดผู้หญิงกับหน้าที่ทางเศรษฐกิจของครอบครัว ในยามที่สามีใช้อำนาจอย่างชอบธรรมในการมีขีดจำกัดการจัดสรรรายได้ให้ครอบครัว
เมื่อผู้หญิงมีความจำเป็นต้องแสวงหารายได้มาจุนเจือครอบครัวเพียงลำพังภายใต้การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมของผู้หญิง โสด หม้าย หย่า แยกกันอยู่ชั่วคราว เป็นครั้งคราว หรือแยกกันอยู่ถาวร
ดังนั้นผู้หญิงจำเป็นต้องก้าวเข้าสู่พื้นที่สาธารณะของผู้หญิง เพื่อแสวงหาปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
แต่ในยุคทุนนิยมการเข้าสู่พื้นที่สาธารณะของผู้หญิง มีขีดจำกัดภายใต้การสร้างความรู้เรื่องการแบ่งแยกงานอาชีพในตลาดแรงงาน
การแบ่งแยกงานอาชีพในตลาดแรงงาน เป็นผลงานการสร้างของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่เพื่อกีดกัน
ผู้หญิงเข้าสู่งานอาชีพของผู้ชายแม้ว่าจะมีงานอาชีพของผู้หญิงในตลาดแรงงานก็เป็นงานอาชีพที่มีความเป็น
รองงานอาชีพของผู้ชายเชิงรายได้ อำนาจ เอกสิทธิ การสนับสนุนในงานอาชีพของผู้หญิงอยู่ในระดับเป็นรองกว่าเสมอ เพื่อปกป้องอำนาจของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่ไว้ ผ่านการควบคุม ครอบงำ ผู้หญิงและเพื่อ ป้องกันผู้หญิงก้าวพ้นออกจากอำนาจของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่
การมีส่วนร่วมในภาคแรงงานของผู้หญิงไทย มีลักษณะงานที่ไม่ต้องการทักษะการทำงานสูง
เป็นลักษณะใกล้เคียงกับการทำงานบ้านของเธอ การผลิต งานบริการ การค้าขายนอกระบบ นำมาซึ่งรายได้
ต่ำกว่างานของผู้ชายในงานอาชีพเดียวกันแม้เมื่อผู้หญิงมีกิจการเป็นของตนเองสัดส่วนรายได้ เมื่อเทียบกับผู้ชายยังต่ำกว่าในอาชีพเดียวกัน เช่นการเป็นผู้ค้าหาบเร่ กิจการธุรกิจ งานเกษตร ชาวนา ช่างแต่งผม
ภายใต้ภาระผูกพันผู้หญิงกับการเป็นภรรยาและแม่ของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่ เป็นการกีดกัน
ปิดกั้นการเข้าสู่พื้นที่สาธารณะของผู้หญิงด้วยการจัดระเบียบการแบ่งพื้นที่ ภายใต้ทัศนะพื้นฐานการมองโลกในมุมมองว่าผู้ชายเป็นผู้ครอบครอง ควบคุม สร้างสรรสรรพสิ่ง รวมทั้งผู้หญิง ซึ่งต้องถูกครอบงำ ควบคุมครอบครองนำมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับการตักตวงประโยชน์ทางธรรมชาติ แต่เพิ่มการตักตวง
ประโยชน์ทางเพศจากผู้หญิงซ้อนทับลงมาด้วย
การวิจัยนี้ต้องการสืบค้นให้เห็นถึงรากเหง้าการปิดกั้นการเข้าสู ่พื้นที่สาธารณะของผู้หญิงว่าเป็นการทำงานในระดับทัศนะพื้นฐานการมองโลกในมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ และการช่วงชิงอำนาจในการเป็นผู้ครอบครองโลกและผู้หญิงของผู้ชาย ผ่านการสร้างอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่ และตรึงอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่ให้ดำรงอยู่เหนือกว่า อย่างเป็นที่ยอมรับว่ามีความเป็นสากล เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ผู้ชายจะเป็นใหญ่กว่า ให้ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับชายเป็นใหญ่อยู่ในสามัญสำนึกของทุกคนด้วยวิธีการ (approach) ทางวาทกรรม ที่จะช่วยคลี่คลายฐานรากภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่

คำถามการวิจัย
การคลี่คลายเพื่อเผยให้เห็นถึงรากเหง้าการช่วงชิงอำนาจของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่และอุดมการณ์
เรื่องเพศ เพื่อปิดกั้นการเข้าสู่พื้นที่สาธารณะของผู้หญิง

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
การศึกษานี้มุ่งประสงค์การคลี่คลาย เพื่อเผยให้เห็นถึงเบื้องหลังการกีดกันความก้าวหน้าในการ
ทำงานของผู้หญิง และการเผชิญกับการแบ่งแยกงานอาชีพในที่ทำงาน ร่วมผลักดันผู้หญิงให้กลับเข้าไปอยู่
ในบ้าน เพื่อปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิง

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.เพื่อกรุยทางการหลุดพ้นจากอัตลักษณ์ผู้หญิงภายใต้การหลอมสร้างของอุดมการณ์พ่อเป็นใหญ่
โดยใช้การปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิงเป็นเวทีการวิพากษ์การบริหารอำนาจของอุดมการณ์
พ่อเป็นใหญ่อย่างลึกซึ้งระดับอุดมการณ์
2. เพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ ผ่านการรื้อถอนการปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงานของ
ผู้หญิง





วิธีดำเนินการวิจัย
วิธีการศึกษามุ่งเน้นที่การวิเคราะห์ปรากฎการณ์การทำงานของผู้หญิงในงานอาชีพต่าง ๆ เพื่อเผยให้เห็นว่าการแบ่งงานกันทำและเรื่องเพศที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทสังคมไทยเป็นการสร้างความรู้ที่ปิดกั้น ความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิงไทยอย่างไร ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นการปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิงไทยในบริบทของที่ทำงาน

สนาม
การศึกษานี้เลือกสนามในการศึกษาที่สะท้อนปรากฏการณ์การปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงาน
ของผู้หญิง และให้ภาพการปิดกั้นการเข้าสู่ที่ทำงานของผู้หญิงว่าเป็นประดิษฐ์กรรมทางสังคม ภายใต้การ
สร้างความรู้เรื่องการแบ่งงานกันทำและเรื่องเพศให้งานอาชีพของผู้หญิง
สนามที่เลือกจึงเป็นสถานที่ทำงาน ซึ่งลักษณะงานสามารถทำได้ทั้งสองเพศ เช่น งานข้าราชการ
ทั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอคติทางเพศในที่ทำงานว่ามีหลากหลายรูปแบบแล้ว การเลือกงานที่ถูกกำหนดโดยความคิดความเชื่อในสังคมว่าเป็นงานที่เหมาะสมกับความเป็นเพศชาย เช่น วิศวกร และลักษณะงานที่มี
เหมาะสมกับเพศชาย มากกว่าเพศหญิง เช่น การทำงานในบริษัท งานโทรทัศน์-วิทยุ งานหนังสือพิมพ์
ซึ่งทั้งหมดจะให้คำอธิบายในกระบวนการสร้างความจริงของระบบพ่อเป็นใหญ่และระบบเพศที่ปิดกั้น
ความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิงในที่ทำงานให้เป็นรองในงานอาชีพของผู้ชาย
เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์การปิดกั้นให้คมชัดลึก การศึกษานี้ได้เลือกกรณีศึกษาที่สะท้อน
การปิดกั้นผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ เช่น การเลือกตำแหน่งงานเป็นงานระดับสูง หรือเป็นผู้บริหารเพื่อสืบหา
ความก้าวหน้าในการทำงานกับตำแหน่งนี้ว่าได้ฟันฝ่าการปิดกั้นขึ้นมาได้อย่างไร ในขณะเดียวกันเพื่อให้เกิด
ความเข้าใจว่าผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในระดับล่าง ถูกปิดกั้นที่จะมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นผู้บริหารได้
อย่างไร จึงได้มุ่งศึกษาผู้หญิงที่ทำงานในระดับล่างด้วย การวิเคราะห์ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับตนเอง
ของผู้หญิงทั้งสองกลุ่ม ในแต่ละงานอาชีพจะช่วยอธิบายรูปแบบการปิดกั้นได้หลากหลายขึ้นว่า
การปิดกั้นผู้หญิงในที่ทำงานแต่ละงานอาชีพทำงานผ่านอะไรบ้าง

การเข้าสู่สนาม
การเตรียมการก่อนเข้าสู่สนาม ผู้วิจัยสร้างแนวคำถาม (guide line) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการ
สัมภาษณ์ภายใต้การใช้คำถามการวิจัย วัตถุประสงค์ และกรอบแนวคิดในการวิจัยเป็นแนวทางในการ
กำหนดแนวคำถามเพื่อวิเคราะห์บริบทที่ทำงานว่าปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิงอย่างไร
โดยแนวคำถามนี้เป็นการกำหนดไว้อย่างหลวม ๆ แต่ในการสัมภาษณ์จริง การพูดคุยสนทนามีลักษณะ
เปิดกว้างให้ผู้ให้สัมภาษณ์พูดคุยถึงเรื่องต่าง ๆ ซึ่งในการสัมภาษณ์ได้ดำเนินไปอย่างอบอุ่นและเป็นมิตร
เพื่อให้ได้ภาพการปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิงที่คมชัดลึก การสร้างความสัมพันธ์
ที่ดีระหว่างการสัมภาษณ์ผ่านการแนะนำจากเพื่อนในวงการต่าง ๆ จะช่วยให้ได้ภาพในที่ทำงานว่ามีการ
กีดกันความก้าวหน้าได้อย่างไร ภายใต้การกำหนดเลือกตัวอย่างเชิงทฤษฎี (Theoretical sampling) เพื่อกำหนดงานอาชีพและผู้ให้ข้อมูลหลักในแต่ละงานอาชีพออกเป็น ผู้บริหารที่แต่งงานแล้ว และยังเป็นโสด กับผู้ปฏิบัติการที่แต่งงานแล้ว ด้วยการเข้าไปในที่ทำงานของผู้ให้ข้อมูลหลักที่เข้าไปได้ ซึ่งจะได้บรรยากาศของที่ทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมงานเพศเดียวกัน และต่างเพศ ผ่านการแสดงออกของการทักทายหรือปรึกษางานในระหว่างการสนทนา หรืออาจเป็นการพูดคุยสนทนานอกที่ทำงาน เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างอิสระ

การเลือกบุคคลหลักในการสัมภาษณ์
การเลือกบุคคลหลักในการให้สัมภาษณ์ ซึ่งการเลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก โดยอาศัยแนวคิด และทฤษฎีเป็นฐานคิดในการกำหนดผู้ให้ข้อมูลหลักคนแรก และคนต่อ ๆ ไป โดยเป็นการกำหนดคุณลักษณะผู้ให้ข้อมูลหลักจากกรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อค้นหาการสร้างความหมายในการปิดกั้นจากปรากฏการณ์ของผู้หญิงในที่ทำงาน
การสัมภาษณ์ระดับลึก ( in-depth interview ) จากผู้ให้ข้อมูลหลักสี่รายแรกที่เป็นโสดและแต่งงาน
แล้วจากตำแหน่งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ ผู้วิจัยได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาการสร้างความหมายของ
ปรากฏการณ์การปิดกั้น สร้างมโนทัศน์ ( concept ) จัดประเภทของมโนทัศน์ ( category) และเชื่อมโยง
มโนทัศน์เพื่อให้ได้ข้อเสนอเกี่ยวกับการปิดกั้น จากนั้นจึงเลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก ที่มีคุณลักษณะที่จะให้ข้อมูลที่อาจปฏิเสธข้อเสนอที่ได้มาจากการวิเคราะห์กรณีศึกษาในรายแรก ๆ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาใหม่มา
วิเคราะห์ และตีความ เพื่อกำหนดผู้ให้ข้อมูลหลักรายต่อ ๆไป การสัมภาษณ์ระดับลึกจะช่วยให้เพิ่มเติมรายละเอียด แต่ต้องปลอดจากการถามนำ แต่เป็นการเปิดเผยความคิดความเชื่อในการทำงานของผู้หญิง
ผ่านการให้ความหมายในการทำงานของตนเอง ความหมายเกี่ยวกับตนเอง




การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล
เป็นการวิเคราะห์ตัวบท เกี่ยวกับบริบทการทำงาน ความคิดของผู้ให้ข้อมูลหลักเกี่ยวกับงานที่ทำ
ของตนเอง เกณฑ์การพิจารณาความก้าวหน้าในการทำงานของที่ทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมงาน และหัวหน้างานที่เป็นเพศเดียวกัน และต่างเพศ บรรยากาศในการทำงาน และการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ
ความก้าวหน้าในที่ทำงานของตนเองในกรณีที่เป็นผู้บริหาร และความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางใน
ความก้าวหน้าในการทำงานของตนเองในกรณีที่เป็นผู้ปฏิบัติการ ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์
เกี่ยวกับความคิดความเชื่อในการทำงานว่าแตกต่างกันระหว่างเพศอย่างไร เก็บเรื่องราว และสาระสำคัญที่
เกี่ยวข้องกับการการปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิง ในสภาพที่ดำรงอยู่ตามปกติ เรื่องราวการ
ปิดกั้นนี้มีความสำคัญตามช่วงเวลาก่อนหลัง คือมีจุดเริ่มต้น มาถึงปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคตเกี่ยวกับ
การปิดกั้นนี้สำหรับผู้หญิงเองได้
นำเรื่องราวที่ได้จากการสัมภาษณ์ระดับลึกมาวิเคราะห์ แยกแยะออกเป็นหัวข้อสำคัญว่า
ประกอบด้วยกฎ กติกาภายใต้ความคิดความเชื่ออย่างไรในการปิดกั้น เพื่อการวิเคราะห์อย่างละเอียด
เป็นการดึงเรื่องราวการปิดกั้นจากที่ทำงาน องค์ประกอบและโครงสร้างการปิดกั้นจะถูกนำมาเปิดผนึก นิยามวิเคราะห์และตีความตามนัย/ความหมายที่เป็นอยู่ในที่ทำงาน สร้างมโนทัศน์ตามการนิยามและวิเคราะห์ จัดเรียงลำดับกระบวนการการปิดกั้นในความเกี่ยวโยงหรือส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างไร
สร้างข้อความจากการวิเคราะห์นำมาเชื่อมโยงเป็นภาพรวมการปิดกั้นในที่ทำงานนี้
นำการปิดกั้นในที่ทำงานที่ผ่านการวิเคราะห์ หรือคลี่คลายให้โดยเห็นโดยการแยกแยะ และสร้าง
ขึ้นมาใหม่ กลับไปสู่บริบทที่ทำงาน เพื่อการตีความที่ได้จากการวิเคราะห์ว่ามีความหมายในการปิดกั้นผู้หญิงอย่างไรในการทำงาน

ผลการศึกษา
ในงานวิจัยนี้เป็นการการวิพากษ์ความเสมอภาคระหว่างเพศในระดับการครอบงำเชิง
อุดมการณ์ของระบบชายเป็นใหญ่ เป็นการคลี่คลายเพื่อเผยให้เห็นถึงรากเหง้าของการบริหารอำนาจ
ของระบบชายเป็นใหญ่ได้แยบยลมากขึ้นจนทำให้ผู้หญิงมีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับตนเองว่า “ฉันเป็น
ผู้หญิง” และความเป็นหญิงของผู้หญิงนี่เอง ที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องชอบธรรมโดยระบบชายเป็นใหญ่
ที่ผู้หญิงจะถูกปิดกั้นความก้าวหน้าในการทำงาน
การบริหารอำนาจอย่างแยบยลของระบบชายเป็นใหญ่เป็นการทำงานภายใต้การสร้างความรู้
เรื่องการแบ่งงานกันทำและเรื่องเพศ เพื่อครอบงำความคิดความเชื่อในความเป็นหญิงผ่านการจัด
ระเบียบพื้นที่ทางสังคมออกเป็นงานบ้านและงานก่อเกิดรายได้

การผลิตซ้ำความเป็นผู้หญิงผ่านการแบ่งงานกันทำ
เป็นการแบ่งงานกันทำชัดเจนระหว่างสามี – ภรรยาภายใต้แนวคิดการแบ่งงานกันทำในสังคมเพื่อ
ความเป็นระเบียบ สงบสุข เรียบร้อยของสังคม
งานบ้านที่เป็นงานของผู้หญิง
การแบ่งงานกันทำในครัวเรือนระหว่างหญิง – ชาย ขึ้นกับความเหมาะสมทางกายภาพ คือดูจาก
ความหนักเบาของงาน งานหนักเป็นของผู้ชาย งานเบาเป็นของผู้หญิง มีลักษณะแบ่งงานกันทำชัดเจน
งานบ้านที่เป็นงานของผู้ชาย
การแบ่งงานกันทำในครอบครัวรุ่นพ่อแม่ แบ่งออกเป็นงานของผู้หญิง และงานของผู้ชายชัดเจน
ภายใต้การสร้างความรู้เรื่องธรรมชาติ คือความเหมาะสมทางกายภาพ มาสร้างความชอบธรรมทางสังคม
ในการแบ่งงานในครัวเรือนของผู้หญิงกับผู้ชายออกจากกัน ซึ่งการทำงานในบ้านของผู้ชายมีลักษณะที่
สอดคล้องกับคุณลักษณะความเป็นชาย หมายความว่าเป็นการใช้คุณลักษณะความเป็นชายเป็นเกณฑ์
ตัดสิน จัดสรรงานในบ้านให้ผู้ชายบนฐานความแตกต่างทางสรีระ
การผลิตซ้ำผ่านงานบ้าน
การเป็นแม่บ้านของผู้หญิงในสายตาของลูกสาว ลูกชายแล้วเป็นภาพผู้หญิงกับงานบ้าน
ภาพผู้หญิงที่หล่อหลอมความเป็นผู้หญิงมาจากงานที่แวดล้อมตัวเธออยู่ในความหมายของลูกสาวเมื่อ
นึกภาพความเป็นผู้หญิงของแม่ เป็นภาพสะท้อนความเป็นธรรมชาติในตัวแม่ อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นภาพ
ในความคิด
การสร้างความเป็นผู้หญิงทางสังคม
ความเป็นผู้หญิงทางสังคมถูกผลิตผ่านการสร้างความแตกต่างทางสรีระให้กลายเป็นความแตกต่างทางสังคมเพื่ออ้างความชอบธรรมในการควบคุมผู้หญิงของระบบชายเป็นใหญ่ ความอ่อนโยนอ่อนหวาน นุ่มนวล คำว่า อ่อนแอ นี้ก็เป็นการสร้างขึ้นเพื่อใช้กับสรีระของผู้หญิงว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ผู้หญิง
จะมีร่างกายอ่อนแอ ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงต้องการการปกป้อง คุ้มครองในความหมายของระบบชายเป็นใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เหมาะสมแล้วที่ผู้หญิงจะสวมบท แม่และภรรยา เป็นบทที่สอดคล้องกับความเป็นหญิงของผู้หญิง ความอ่อนโยนของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับการเป็นแม่ เป็นผู้ต้องการการคุ้มครอง

การผลิตซ้ำผ่านระบบเศรษฐกิจของครัวเรือน
การจุนเจือทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนของภรรยาเป็นการผลิตซ้ำความเป็นผู้หญิงผ่านการเป็นภรรยา สำหรับภรรยาแล้ว ครอบครัวต้องมาก่อน การทำงานใดก็ตามที่เป็นการจุนเจือครอบครัว ภรรยาทุกคนต้องทำทุกรูปแบบ
การผลิตซ้ำผ่านนิยามของความเป็นแม่
การมีแม่เป็นต้นแบบ เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการเป็นแม่ให้คนรุ่นต่อไปเรียนรู้ การเป็นแม่
จากการทำงานของแม่ เป็นการถ่ายทอดความเป็นหญิงในรูปแบบหนึ่งที่ต่างจากการผลิตซ้ำอัตลักษณ์หญิงกับงานบ้านคือการมอบหมายให้พี่สาวทำงานบ้านแทนแม่ ผ่านการมีแม่เป็นต้นแบบการเป็นผู้หญิงในนามของแม่บ้าน เป็นการตอกย้ำอัตลักษณ์หญิงลงไปบนการทำงานบ้านของผู้หญิงรุ่นต่อมาผ่านความเป็นหญิง
ดังนั้นแล้วงานบ้าน งานในครัวเรือนกลายเป็นมรดกตกทอดให้กับคนรุ่นต่อไปที่เป็นเพศเดียวกัน

การผลิตซ้ำความเป็นผู้หญิงผ่านเรื่องเพศ
เรื่องเพศของผู้หญิงถูกใช้ผลิตซ้ำความเป็นผู้หญิง ผ่านการแสดงตามบทเพศหญิง เพื่อการตอก
ย้ำอัตลักษณ์หญิงในอีกมิติของการเป็นผู้หญิง บทเพศหญิงเป็นบทของผู้ตาม รอคอย และสนองตอบความ
ต้องการเรื่องเพศตามบทเพศชาย ในบทของผู้นำ
เรื่องเพศผ่านครอบครัว
สถาบันครอบครัวถูกใช้เป็นพื้นที่เพื่อรองรับการควบคุมเรื่องเพศของผู้หญิงของระบบชายเป็นใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องชอบธรรมที่ผู้หญิงจะถูกควบคุมเรื่องเพศผ่านการเล่น บทเพศหญิงภายใต้การสร้างของระบบชายเป็นใหญ่ ว่าเรื่องเพศที่ถูกต้อง เหมาะสมสำหรับผู้หญิงแล้วต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชายในนามของสามีผ่านการใช้ความรักเป็นกฎ กติกาการควบคุมเรื่องเพศของผู้หญิงของระบบชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงเองก็ยินยอมให้ความรักกลายเป็นอำนาจที่จะผูกมัดตัวเองกับครอบครัวผ่านการแต่งงาน
เรื่องเพศผ่านโรงเรียน
การเรียนรู้เรื่องเพศจากครอบครัวเป็นบทเรียนแรกของสมาชิกใหม่ของสังคม เมื่อก้าวออกจากบ้าน
แล้วการเรียนรู้ในการดูแลตัวเอง เป็นเรื่องจำเป็นของผู้หญิง การเข้าเรียนโรงเรียนสตรีเป็นทางเลือกในการ
ดูแลลูกสาวของพ่อแม่ ลูกสาวรุ่นนี้ผ่านโรงเรียนสตรีในช่วงหนึ่งของการเรียน แน่นอนว่าการสอนเรื่องการเป็นผู้หญิงย่อมมีในโรงเรียน


เรื่องเพศผ่านเพื่อน
การเรียนรู้เรื่องเพศในกลุ่มเพื่อนด้วยกัน เป็นการเล่าสู่กันฟังเรื่องการคบเพื่อนต่างเพศ การเห็น
เพื่อน ๆ คบเพื่อนต่างเพศ รวมทั้งการพยายามหาเพื่อนต่างเพศให้เพื่อน การช่วยดูแลเพื่อนต่างเพศให้ว่า
เป็นยังไงบ้าง คืออยู่ในสายตาเพื่อนอีกชั้นหนึ่ง จะเป็นการช่วยคัดกรองพฤติกรรมเพื่อนต่างเพศให้ด้วย
การเรียนรู้เรื่องเพศผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา กลุ่มเพื่อน สื่อของผู้หญิงภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ หล่อหลอมสร้างความเป็นหญิงเมื่อต้องอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่แล้ว ความแตกต่างทางสรีระระหว่างหญิง – ชาย ว่า ความอ่อนแอเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง ความแข็งแรงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายกลายเป็นความจริงทางสังคมที่ซึมวาบเข้าไปในความคิดของการเป็นผู้หญิง เพื่อความปลอดภัยทางสังคมสำหรับการเป็นผู้หญิง การมีร่างกายแข็งแรงภายใต้ภาพการแข็งแรงทางร่างกายของการเป็นผู้ชายกลายเป็นความเชื่อเพื่อดูแลตัวเองของผู้หญิง

การผลิตซ้ำผ่านที่ทำงาน
งานอาชีพของผู้หญิงในที่ทำงานเป็นเพียงการขยายมาจากการทำงานบ้านของเธอเพื่อเปิดพื้นที่
สาธารณะให้ผู้หญิงเพียงเท่าที่ระบบชายเป็นใหญ่สร้างไว้ให้ดูเสมือนว่าผู้หญิงสามารถทำงานอาชีพได้
แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการสร้างภาพของระบบชายเป็นใหญ่ เพราะการทำงานอาชีพของผู้หญิงยังมี
ความสำคัญ เป็นรองจากงานอาชีพของผู้ชายผ่านการให้ความสำคัญกับงานอาชีพของผู้ชายสูงกว่า
ในรูปของรายได้ ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของงานอาชีพของผู้ชายสูงกว่า
ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะเข้าไปในงานอาชีพที่สังคมสร้างไว้ให้เหมาะกับความเป็นชาย สอดคล้องกับ
คุณลักษณะทางธรรมชาติของความเป็นชายได้ แต่ภายใต้กระบวนการตอกย้ำอัตลักษณ์หญิงของ
ระบบงาน ทำให้ผู้หญิงก้าวเข้าไปถึงส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของงานไม่ได้ผ่านการตอกย้ำเรื่องเพศในที่
ทำงาน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจึงยังไม่เกิดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้าไปในส่วนที่เป็นหัวใจ
สำคัญของงานได้ภายใต้การสร้างกฎ กติกาเพื่อปิดกั้นการเข้าสู่หัวใจสำคัญของงาน ผ่านการตอกย้ำ
อัตลักษณ์หญิงของเธอ การมอบหมายงานที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์หญิงเป็นกระบวนการสร้างความไม่เท่า
เทียมระว่างเพศในที่ทำงานอย่างได้ผลจนผู้หญิงยินยอมรับบทเพศหญิงของเธอว่างานที่เธอทำเป็นงาน
ของการใช้ความละเอียดลออในการทำงานและผู้หญิงทำงานประเภทนี้ได้ดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น